02-3108242, 086-336-7331, 086-336-7334    mbalogistics_ru@hotmail.com

คำอธิบายรายวิชา


LOG6010 – ภาษาอังกฤษเพื่อการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6) (English for Logistics and Supply Chain Management) (ไม่นับหน่วยกิต)
ศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในการอ่าน การเขียน การเจรจาภาษาต่างประเทศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ โดยใช้กรณีศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสาร

LOG6011 – การบัญชีการเงินและการบัญชีเพื่อการจัดการโลจิสติกส์ 3 (3-0-6)(Financial and Managerial Accounting for Logistics )(ไม่นับหน่วยกิต)
ศึกษาลักษณะ เทคนิค และการนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในฐานะนักบริหาร สำหรับการวางแผนทางธุรกิจ การควบคุม การตัดสินใจ และการดำเนินงาน เพื่อให้เข้าใจงบการเงินประเภทต่างๆ การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน การแปลความหมายข้อมูลทางบัญชี แนวคิดและวิธีการการบัญชีต้นทุน

LOG6100 – พลวัตการบริหารทุนมนุษย์ในองค์การ 3 (3-0-6)(Human Capital Dynamics in Organizations)
วิธีการบูรณาการแนวความคิดการจัดการองค์การ หลักพื้นฐานทางการจัดการ และผลกระทบของรูปแบบภาวะผู้นำ นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลต่อการประกอบการขององค์กรในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องมีการแข่งขันในระดับโลก และการประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์การด้านโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน

LOG6102 – การจัดการการตลาดสำหรับโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6) (Marketing management for Logistics and Supply Chain)
ศึกษาการจัดการหน้าที่การตลาด การวิเคราะห์ตลาดและสภาพแวดล้อม การวางแผนการตลาด การกำหนดกลยุทธ์และการควบคุม พัฒนาและจัดการโปรแกรมการตลาดรวมถึงการตลาดระหว่างประเทศ การตลาดบริการและการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การประยุกต์ใช้กลยุทธ์การตลาดในการจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

LOG6103 – การจัดการการเงินสำหรับโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6) (Financial Management for Logistics and Supply Chain)
ศึกษาทฤษฎี นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการจัดการการเงิน การวิเคราะห์ทางการเงิน แหล่งเงินทุน การลงทุน งบลงทุนและโครงสร้างเงินทุน วิเคราะห์ความเสี่ยง การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ต้นทุนของเงินทุน การบริหารเงินทุนหมุนเวียน นโยบายเงินปันผล การเงินระหว่างประเทศ การศึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพทางโลจิสติกส์เข้าใจภาษาทางการเงิน นำความรู้ไปพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงผลประกอบการด้านการเงินของธุรกิจในโซ่อุปทาน

LOG7104 – การวิจัยทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6)(Logistics and Supply Chain Research)
ศึกษากรอบแนวคิดและวิธีการดำเนินการวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหารทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ประกอบด้วย การกำหนดปัญหา การวางแผนการวิจัย การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และการประเมินผลข้อมูล การรายงานผลการวิจัย ช่วยให้ผู้บริหารทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานตระหนักถึงการเก็บรวบรวมสารสนเทศอย่างมีระบบ ด้วยการระบุสารสนเทศที่จำเป็นต้องใช้ การเลือกแหล่งข้อมูล การประยุกต์ใช้เครื่องมือและตัวแบบทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยปรับปรุงการตัดสินใจ การวางแผนและการควบคุมทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

LOG7105 – การจัดการเชิงกลยุทธ์ทางโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6) (Logistics and Supply Chain Strategic Management)
ศึกษาการจัดการเชิงกลยุทธ์แบบบูรณาการ เน้นการกำหนดกลยุทธ์ นำไปปฏิบัติ ประเมินผลและควบคุมกิจการระดับประเทศและระดับโลก การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและคู่แข่งขันโซ่คุณค่าของธุรกิจและอุตสาหกรรม ภาวะผู้นำ การกำหนดเป้าหมาย โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร โดยใช้กรณีศึกษาสำหรับผู้บริหารด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 

LOG6211 – การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6)(Logistics and Supply Chain Management)
ศึกษาบทบาทของกระบวนการโลจิสติกส์ในภาคธุรกิจระดับประเทศ นานาประเทศและภาครัฐบาล คุณลักษณะของกิจกรรมโลจิสติกส์ และความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในโซ่อุปทานกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาระบบโลจิสติกส์ การขนถ่ายลำเลียงในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาผลิต การกระจายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้า การบริการลูกค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การคลังสินค้า การขนถ่ายลำเลียงวัตถุดิบและสินค้าภายใน กระบวนการสั่งซื้อและการไหลของสารสนเทศ การบรรจุภัณฑ์ บทบาทของการขนส่งที่มีต่อโลจิสติกส์และการควบคุมการปฏิบัติทางด้านโลจิสติกส์ กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงผลดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มระดับการบริการที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าและความได้เปรียบทางการแข่งขัน เน้นให้นักศึกษาพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน กำหนดกลยุทธ์ทางด้านโลจิสติกส์ในส่วนของสินค้าใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การกำจัดของเสีย การขนถ่ายสินค้ากลับและการซ่อมบำรุง การวางเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ระบบสารสนเทศโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน การวางแผนและการดำเนินการกระจายสินค้าและระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง

LOG6212 – การจัดการการขนส่ง 3 (3-0-6)(Transportation Management)
ศึกษาบทบาทของการขนส่งที่มีต่อเศรษฐกิจ องค์ประกอบของระบบการขนส่ง รูปแบบการขนส่ง และประเภทของผู้ประกอบการขนส่ง ข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจและการบริการของรูปแบบการขนส่งแบบต่างๆ การเลือกผู้ประกอบการขนส่ง การเลือกเส้นทางและตารางการขนส่ง การวางแผนด้านเวลาที่ใช้ในการขนส่ง การเลือกเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการขนส่ง จัดเตรียมและตรวจสอบเอกสารการขนส่งให้เหมาะกับการใช้งาน การพิจารณาความเหมาะสมระหว่างต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนสินค้าคงคลัง กระบวนการเจรจาต่อรองอัตราค่าระวางการขนส่งและค่าบริการอื่น ติดตามอัตราค่าระวางการขนส่งสินค้า กระบวนการร้องเรียนเมื่อเกิดความเสียหายและการควบคุมการปฏิบัติงานด้านการขนส่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ตมาพัฒนาระบบฐานข้อมูลภายในหน้าที่โลจิสติกส์และบทบาทของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตามสัญญา

LOG6213 – การจัดการคลังสินค้าและการกระจายสินค้า 3 (3-0-6)(Warehouse and Distribution Management)
ศึกษาบทบาทและความสำคัญของคลังสินค้าในระบบเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของคลังสินค้าที่มีต่อกระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ประเภทของคลังสินค้า การเลือกสถานที่ตั้ง การวางผังและการออกแบบภายใน การจัดการคลังสินค้าประกอบด้วย การพยากรณ์ความต้องการสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง ระบบการเก็บรักษา การรับคำสั่งซื้อ การส่งของ วิเคราะห์ความเหมาะสมระหว่างระดับสินค้าคงคลังกับการเลือกใช้วิธีการขนส่งและการบริการลูกค้า การเลือกเส้นทางและจัดตารางเวลาการขนส่งด้วยการพิจารณาสินค้าคงคลัง การออกแบบเครือข่ายการกระจายสินค้า การคัดเลือกผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้า การขนส่งผ่านชานชาลา การขนส่งสินค้าขากลับ ระบบถ่ายโอนสารสนเทศ การใช้อุปกรณ์ ขนถ่ายและลำเลียงวัสดุ/สินค้า ระบบซอฟแวร์จัดการข้อมูล การใช้รหัสแท่ง ระบบความปลอดภัย การบรรจุภัณฑ์ และการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุประสิทธิผลสูงสุดทางด้านต้นทุนและการบริการลูกค้า การศึกษารวมถึงการจัดการศูนย์กระจายสินค้าด้วย

LOG7214 – ระบบสารสนเทศโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6)(Logistics and Supply Chain Information Systems)
ศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีต่อระบบการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ระบบซอฟแวร์จัดการข้อมูลที่ใช้ในการออกแบบเครือข่ายโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า ได้แก่ ซอฟแวร์ระบบการจัดการขององค์กร (ERP) ระบบการบริหารจัดการด้านการกระจายสินค้า(DIMS) ระบบRouting Software ระบบการจัดการโซ่อุปทาน(SCS) ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์(EDI) ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ระบบรหัสแท่ง ระบบอุปกรณ์ตรวจสอบและติดตามสินค้าด้วยคลื่นความถี่วิทยุแบบไร้สาย (RFID) และระบบการบริหารคลังสินค้า (WMS) เน้นโครงสร้างและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของการไหลของกิจกรรมโลจิสติกส์และ โซ่อุปทานทั้งระบบ การแบ่งปันข้อมูล ณ จุดขายร่วมกันกับธุรกิจทั้งหมดในโซ่อุปทาน การสร้างระบบการจัดการทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับโลจิสติกส์และโซ่อุปทานขึ้นมาใช้เอง

LOG7321 – สัมมนาเชิงปฏิบัติการทางด้านโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน 3 (2-3-6)(Workshop Seminar in Logistics and Supply Chain Management)
ศึกษาการบูรณาการการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในประเด็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของนักศึกษาให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ครอบคลุมกิจกรรมเพื่อช่วยในการขยายวิสาหกิจ การศึกษาจะใช้วิธีการบรรยาย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรระดับผู้บริหารจากภายนอกและใช้กรณีศึกษาที่เกี่ยวกับกลยุทธ์ การจัดการและการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน นักศึกษาร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อทำโครงการออกแบบกระบวนการโลจิสติกส์ให้กับบริษัทที่ให้การสนับสนุน

LOG7322 – การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานระดับโลก 3 (3-0-6)(Global Logistics and Supply Chain Management)
เนื้อหาวิชาครอบคลุมถึงบทบาทของโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจระดับโลก ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสินค้าในตลาดโลก ความแตกต่างของระบบการกระจายสินค้าทั่วโลก คุณลักษณะทางเศรษฐกิจและบริการของผู้ให้บริการระบบขนส่งระหว่างประเทศ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของรัฐบาล เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก และศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการขายและการชำระเงินที่ใช้ในในธุรกิจระดับโลก ระบบการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ บทบาทการสร้างมูลค่าเพิ่มของตัวแทนโลจิสติกส์ในระดับโลก และการสร้างประสิทธิภาพอย่างสูงสุดซึ่งกันและกัน ความสำคัญของการประกันภัยสินค้าที่ขนส่งและความรับผิดที่จะชดใช้ค่าเสียหายที่มีต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับโลก และหลักพื้นฐานของการจัดการส่งออกและนำเข้าที่มีประสิทธิภาพ

LOG7323 – การจัดซื้อแหล่งสนับสนุนภายนอกและการตรวจสอบคุณภาพ 3 (3-0-6)(Purchasing, Outsourcing & Quality Inspection)
ศึกษากลยุทธ์ทางการดำเนินการทางด้านการจัดซื้อ การจัดซื้อจัดหาจากแหล่งสนับสนุนภายนอก และการตรวจสอบคุณภาพในโซ่อุปทาน เน้นทางด้านกลยุทธ์การจัดซื้อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อลูกค้า รวมถึงการจัดซื้อวัตถุดิบ วัสดุสิ้นเปลืองและสินค้าสำเร็จรูปอย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และการควบคุมคุณภาพ การพัฒนาเครื่องมือ และเทคนิคการจัดซื้อโดยอาศัยระบบสารสนเทศ

LOG7324 – การจัดการการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ 3 (3-0-6)(Freight Management and International Trade)
ศึกษาวิธีการสร้างรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ เครื่องมือที่ใช้และการทำงานของเครื่องมือเหล่านั้น กระบวนการซื้อขายและบทบาทของเอกสาร บทบาทของบริษัทข้ามชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและกลยุทธ์ของบริษัทเหล่านี้ การศึกษารวมถึงการทำเขตการค้าเสรีข้ามภูมิภาค ผลกระทบของเขตเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจการเมืองโลก กฎหมายระหว่างประเทศและกฎข้อบังคับขององค์การการค้าโลก ข้อตกลงของบรรษัทข้ามชาติ องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สนธิสัญญาความร่วมมือระดับทวิภาคี พหุภาคีและระดับภูมิภาค การจัดการสายการขนส่งระหว่างประเทศรวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออก พิธีการศุลกากร การติดตาม การดำเนินงานของสถานีขนส่ง การคัดเลือกวิธีการขนส่ง การคัดเลือกผู้ขนส่ง นักศึกษาจะสามารถตรวจสอบ วางแผน คัดเลือก จัดซื้อการขนส่งระหว่างประเทศรวมถึงความต้องการการบรรจุภัณฑ์และการจัดการขนถ่ายสินค้าจากผู้เชี่ยวชาญการขนส่งสินค้า

LOG7325 – กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 (3-0-6) (Laws Relating to Logistics and Supply Chain Management)
ศึกษากฎหมายและกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของรัฐบาลที่กำหนดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนผู้เป็นฝ่ายสัญญาที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงระบบสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าว ได้แก่ สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศและระบบความรับผิดชอบของท่าขนถ่ายสินค้าและการประกันภัย ที่มีผลต่อหรือเกี่ยวพันกับระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และศึกษาแนวความคิดและหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการของภาคเอกชนโดยรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อลักษณะการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ได้แก่ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการก่อการร้าย

LOG7326 – การจัดการกิจการพาณิชย์นาวี 3 (3-0-6)(Maritime Management)
ศึกษาลักษณะและการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจพาณิชย์นาวี นับตั้งแต่ประเภทของเรือที่ใช้ในธุรกิจพาณิชย์นาวี ธุรกิจการขนส่งทางน้ำ ทางทะเล และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การประกันภัยทางทะเลรวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรที่จะใช้ในทางพาณิชย์นาวี นอกจากนี้ ยังศึกษารูปแบบองค์กร การจัดองค์กร การบริหารจัดการธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเดินเรือพาณิชย์ องค์กรอื่นที่ช่วยสนับสนุนการขนส่งทางน้ำและ ทางทะเล เช่น ชมรมสายการเดินเรือ P&I Club International Organization ท่าเรือ รวมทั้งศึกษาถึงขั้นตอนการขนส่งทางน้ำและทางทะเล นับตั้งแต่การจองระวางเรือ การคิดค่าระวาง การดำเนินการด้านเอกสารการขนส่งต่าง ๆ และพิธีการศุลกากร

LOG7327 – การจัดการสถานีขนส่ง 3 (3-0-6)(Terminal Management)
ศึกษาเกี่ยวกับสถานที่ขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารประเภทต่างๆ เช่น สถานีขนส่งสินค้า สถานีบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ สถานีเพื่อการจัดการสินค้านอกท่าเรือหรือนอกท่าอากาศยาน สถานีในเมือง จุดเชื่อมต่อการขนส่งต่างระบบ ศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า คลังสินค้าระหว่างประเทศ คลังหรือสถานีใน Export Processing Zone หรือ Free Zone ศูนย์โลจิสติกส์ รวมถึงสถานีขนส่งเฉพาะสำหรับสินค้าบางประเภท สถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นต้น โดยศึกษาลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน หน้าที่ของสถานีขนส่งแต่ละประเภท การจัดสรรพื้นที่และการใช้ประโยชน์ กระบวนการทำงานและลักษณะการให้บริการ ที่มาของรายได้และรายจ่ายของสถานีขนส่ง การบริหารสถานีขนส่ง และการดำเนินการให้สามารถใช้ประโยชน์สถานีขนส่งได้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

LOG7328 – การจัดการการนำเข้าและส่งออก 3 (3-0-6)(Management of Import and Export)
ศึกษารูปแบบและโครงสร้างของการดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออก การทำข้อตกลงหรือสัยญาทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดเตรียมเอกสารการนำเข้าและส่งออก วิธีการนำเข้าและส่งออก เงื่อนไขทางด้านราคาและการส่งมอบสินค้า รวมถึงการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ

LOG7329 – ยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานทางเศรษฐกิจอาเซียน 3(3-0-6)(Strategic Logistics and Supply Chain Economies of ASEAN)
ศึกษาบทบาทและความสำคัญของระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สามารถสร้างความความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และวางแผนสนันสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน

LOG7330 – การจัดการนวัตกรรมทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3(3-0-6)(Management of Innovation in Logistics and Supply Chains)
ศึกษารูปแบบและเกณฑ์สำหรับกำหนดขอบเขตและกระบวนการจัดการด้านนวัตกรรมรวมถึงความสามารถในการประเมินและการจัดการนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาคุณภาพด้านนวัตกรรมทางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

LOG7096 – การค้นคว้าอิสระ 3 (1-2-9)(Independent Study)
วิชานี้กำหนดให้นักศึกษาค้นคว้าและนำเสนอในรูปแบบรายงาน ในหัวข้อที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ที่นักศึกษาสนใจเป็นพิเศษ ภายใต้ความเห็นชอบและการกำกับดูแลของคณะกรรมการอาจารย์ที่ปรึกษา

LOG7097 – การสอบประมวลความรู้ 0 (0-0-0)(Comprehensive Examination)
นักศึกษาที่ผ่านการศึกษารายวิชาครบตามหลักสูตรแล้ว ต้องสอบประมวลความรู้ ซึ่งอาจเป็นแบบข้อเขียนหรือปากเปล่าหรือทั้งสองแบบตามที่สาขาวิชากำหนด

RAM6001 – ความรู้คู่คุณธรรมสำหรับบัณฑิตศึกษา 1 (1-1-0)(Knowledge and Morality for Graduate studies)
ศึกษาทฤษฎี หลักการ กระบวนการ และแนวทางในการสร้างความรู้ และศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองมีจิตสำนักสาธารณะ มีสำนึกนำในการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม และประเทศชาติ ให้ความเคารพต่อวิชาชีพวิชาการ ยึดหลักความถูกต้อง เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ตลอดจนการมองโลกในแง่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยใช้หลักธรรมภิบาล พึ่งพสตนเอง โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และแสวงหาความรู้ต่อเนื่อง

Copyright © 2024 MBA Logistics and Supply Chain Management Ramkhamhaeng University. All Rights Reserved.
เราอาจจะเราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและปรับปรุงบริการ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ที่ปุ่ม "ตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว    ยอมรับทั้งหมด